วงจรการจัดการอุบัติภัยฉุกเฉินจากสารเคมี
การพัฒนาภาคอุสาหกรรมและการเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการผลิตและนำเข้าสารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ มาใช้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุบัติภัยจากสารเคมีทั้งกระบวนการผลิต การจัดเก็บและการขนส่งสารเคมีเหล่านั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นหน่วยงานด้านวิชาการหลักในการให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมี แต่ด้วยภัยจากสารเคมีเป็นภัยเฉพาะด้านที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานในการปฏิบัติการตอบโต้เหตุ ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการจัดทำมาตราการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานทั้งในส่วนกรุงเทพมหานคร ท้องถิ่น ภูมิภาค ให้สามารถรองรับอุบัติจากสารเคมีได้ โดยให้มีการเตรียมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีแนวทางการปฏิบัติอย่างชัดเจน เสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ระดับบัญชาการเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ (Incident Command System) และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในด้านเทคนิคการระงับเหตุอุบัติภัยจากสารเคมี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชน
วงจรการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี
Hazardous Materials Safety Continuum
เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.การป้องกัน (Prevention) ได้แก่ การออกกฎระเบียบ กฎหมายและมาตราการต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงหากเกิดการรั่วไหลไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พระราชบัญญํติโรงงาน พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.2534 ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง การติดป้ายอักษร ภาพและเครื่องมือของรถบรรทุกวัตถุอันตราย การตรวจประเมินความปลอดภัย Safety Audit และการตรวจสอบหลังเกิดเหตุ
2.การจัดทำแผน (Planning)การวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี แผนปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. แผนปฏิบัติการฉุกเฉินจากสารเคมีระดับโรงงานหรือสถานประกอบการ
2. แผนปฏิบัติการฉุกเฉินจากสารเคมีระดับจังหวัด
3. แผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนระดับประเทศด้านการป้องกันสาธารณภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย
3.การเตรียมความพร้อม (Preparedness) คือการเตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยการสร้างความรู้และทักษะของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีในระดับต่างๆ ตามความเหมาะสม รวมทั้งความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ประจำกาย PPE
4.การตอบโต้เหตุ (Response) ได้แก่ การตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีตามแนวทางปฏิบัติที่มีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ และภายหลังจากการปฏิบัติการทุกครั้งจะต้องมีการประเมินผลการดำเนินการ เพื่อปรับปรุงแก้ไขในจุดที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข และนำไปกำหนดในแผนการปฏิบัติ รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม